มะเร็งไฝ
เจตริน อายุ 59 ปี มีอาชีพเป็นยามรักษาความปลอดภัย วันหนึ่งเขาสังเกตเห็นไฝเม็ดเล็ก ๆ ที่ขึ้นอยู่บริเวณฝ่าเท้า แต่ด้วยความที่ไม่รู้สึกเจ็บอะไร เขาจึงไม่ใส่ใจ ทว่าหลังจากนั้นอีกปี ไฝที่ฝ่าเท้าเม็ดนั้นยิ่งขยายใหญ่ขึ้นเป็นเท่าตัว แถมมีสีอ่อนลง แต่เขายังคงไม่เอะใจและคิดว่าเดี๋ยวคงจะหาย
จู่ ๆ วันหนึ่ง เขาเกิดรู้สึกเจ็บที่กระดูกสะโพกด้านซ้ายขึ้นมา และเกิดอาการไออย่างกะทันหันติดต่อกันมาเรื่อย ๆ เขาจึงตัดสินใจไปตรวจสุขภาพแล้วผลการตรวจออกมานั้น ร้ายแรงเกินคาดคิด เขาป่วยเป็นมะเร็งที่ปอด เหตุใดจึงมีเซลล์มะเร็งเกิดขึ้นที่ปอดของจักรี น่าสงสัยจริง ๆ ว่าเนื้อมะเร็งที่ลุกลามมานี้ เกี่ยวข้องกับไฝที่ฝ่าเท้าของเขาได้อย่างไร
กลุ่มเสี่ยง
ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในรายที่มีไฝมาก เกิดขึ้นทั่วร่างกาย
อาการที่พึงระวัง
ไฝมีขนาดใหญ่ขึ้น สีเปลี่ยนแปลง
ลักษณะของโรคมะเร็งไฝ
โรคนี้เกิดจากการที่มีเซลล์สร้างเมลานินอยู่ใต้ชั้นผิวหนัง ซึ่งเรียกว่า "เมลาโนไซต์" กลายเป็นมะเร็งชนิดไหนก็ตาม ก็สามารถเปลี่ยนแปลงและแพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว เกิดได้ทุกที่ทั่วร่างกาย สาเหตุที่ทำให้เกิดเมลาโนมานั้นไม่ทราบได้แน่ชัด เช่น ไฝที่ฝ่าเท้าก็อาจเกิดจากการเดินเป็นเวลานาน ๆ ทำให้เกิดความบอบช้ำกับเท้าได้
คำว่ามะเร็งจากไฝอาจจะเป็นคำที่เรียกง่าย ๆ แต่จริง ๆ แล้วเมลาโนมาเป็นมะเร็งของเซลล์ที่สร้างเม็ดสีที่เราเรียกว่า เมลาโนไซต์ ไฝบางประเภทสามารถกลายมาเป็นมะเร็งชนิดนี้ได้ ขี้แมงวันซึ่งเป็นจุดสีเข้ม ๆ แต่ไม่นูนนั้นไม่ใช่ไฝ แต่ถ้าเป็นไฝลักษณะของไฝคือต้องนูน ส่วนจะนูนมากหรือนูนน้อยแล้วแต่กรณี ไฝอาจจะมีขนหรือไม่มีก็ได้ ในทางการแพทย์ ถ้าเกิดมีขนาดใหญ่หรือมีลักษณะผิดปกติ แพทย์จะแนะนำให้เอาออก แต่ในกรณีที่เอาไฝออก แต่เอาออกไม่หมดก็อาจมีโอกาสเกิดขึ้นใหม่ได้ แม้แต่การทำโดยวิธีเลเซอร์
ไฝเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ที่รวมตัวตั้งแต่ 3 เซลล์ขึ้นไป ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิด หรือเกิดขึ้นภายหลัง อาจเริ่มตั้งแต่ขนาดเล็ก ๆ หรือเพิ่งจะเริ่มเกิดขึ้นเมื่อตอนเป็นเด็ก ซึ่งขนาดก็จะโตขึ้นตามตัวด้วย มีวิธีการสังเกตว่าเป็นไฝดีหรือไม่ดีก็คือ เวลาที่ให้ความสำคัญกับเมลาโนมา จะดูสัญลักษณ์ที่เราจำง่าย ๆ คือ A B C D
A คือ Asymmetry สังเกตเรื่องความสม่ำเสมอของสี เช่น ไฝนี้ครึ่งหนึ่งจะเป็นส่วนสีเข้ม ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะเป็นสีที่อ่อน ในความเข้มและอ่อนของทั้ง 2 ฝั่ง มีความที่ไม่สม่ำเสมอคือ มีความเข้มน้อย เข้มมากอยู่ด้วยกัน ดังนั้น สิ่งนี้จะเป็นอาการที่แพทย์ให้ความสนใจ
B คือ Border สังเกตขอบเขตในกลุ่มของเมลาโนมา ขอบเขตบางครั้งจะไม่ค่อยชัดมาก สังเกตว่าจะมีรอยหยัก รอยนูนขณะเดียวกันอาจมีความสูงต่ำไม่เท่ากัน
C คือ Color สังเกตลักษณะของสีก็ คือ สีที่เข้มมาก ๆ ดำมาก ๆ
D คือ Diameter สังเกตที่ขนาดหากขนาดโตมากกว่า 6 มิลลิเมตร ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ หากมีไฝจำนวนมากก็ต้อง ระมัดระวังและดูความผิดปกติเป็นพิเศษ เช่น ในผู้ใหญ่ถ้ามีมากกว่า 100 เม็ดขึ้นไปก็จัดว่ามีความเสี่ยง ถ้าเป็นเด็กเล็กจะนับตั้งแต่ 50 เม็ดขึ้นไป ซึ่งแพทย์จะใช้เหตุผลหลาย ๆ อย่างประกอบกัน เราไม่สามารถป้องกันไฝได้เพียงแต่ถ้าในกลุ่มที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็น เมื่อสังเกตเห็นอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที หรือหากสงสัยก็อาจถ่ายรูปไว้ อีกประมาณ 6 เดือนจึงค่อยมาเทียบดูว่า มีการเปลี่ยนแปลงกับไฝที่อยู่บนผิวหนังเราหรือไม่
วิธีการรักษามะเร็งใฝ
การรักษาวินิจฉัย คือ การตัดชิ้นเนื้อมาตรวจ นั่นคือการตัดไฝชิ้นนั้นออกไป แล้วส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ถ้าใช่ก็ตรวจเพิ่มเติมว่ามีการกระจายของเมลาโนมาไปที่ไหนบ้าง และถ้าเป็นเม็ดใหญ่ก็ควรให้แพทย์เป็นผู้ทำการผ่าตัดให้
รู้ไว้ ไกลโรคมะเร็งไฝ
การตากแดดเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งไฝ
แพทย์ผู้ให้ข้อมูล:พญ.พู่กลิ่น ตรีสุโกศล หัวหน้าคลินิกผิวหนังและภูมิแพ้ โรงพยาบาลพญาไท 2