โรคเบาหวาน ประเภทที่ 1 แบบรุนแรง
ตะวันเป็นครูสอนฟิตเนสที่ฟิตพร้อมร่างกายอยู่เสมอ เขาไม่เคยละเลยสุขภาพ ทั้งยังดูแลเรื่องโภชนาการให้ถูกสุขลักษณะ ด้วยการรับประทานผักและดื่มน้ำผลไม้เป็นประจำ วันหนึ่งหลังจากสอนฟิตเนสเสร็จ เขามีอาการเจ็บคอและมีไข้อ่อนๆ ซึ่งถือเป็นอาการหวัดปกติทั่วไป ด้วยความมั่นใจในสุขภาพที่แข็งแรงของตนเอง จึงคิดว่าไม่เป็นอะไรมากและไปทำงานต่อ แต่เมื่อกลับถึงบ้าน เขากลับมีอาการปวดที่ต้นคอและลำตัว เขาบรรเทาอาการป่วยนั้นด้วยการทานยาแก้ปวด 2 เม็ดเท่านั้น และโชคดีที่วันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุด จึงได้พักผ่อนอยู่กับบ้าน เหมือนทุกอย่างจะเป็นไปได้ด้วยดี แต่เขากลับมีอาการใหม่เพิ่มอีกคือ การปัสสาวะบ่อยมากและคอแห้งตลอดเวลา จากเช้าจรดเย็น เขาดื่มน้ำถึง 4 ลิตร แต่ตกดึกเขากลับมีสภาพอิดโรยและอาเจียนอย่างรุนแรง กระนั้นเขาก็ยังเชื่อว่าตัวเองเป็นไข้หวัดธรรมดา
เช้าวันรุ่งขึ้นเป็นวันที่เขานัดพาลูกไปเที่ยวสวนสัตว์ แต่เขายังนอนซมอยู่ ลูกจึงงอแง และเข้าไปปลุกเพื่อทวงสัญญา เขาหายใจยาวแต่ไร้สติและไม่ยอมลืมตา ตะวันจึงถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน เพียง 1 ชั่วโมงให้หลัง หลังจากถึงโรงพยาบาล เขาสิ้นลมหายใจในที่สุด
จากอาการหวัดธรรมดาจนถึงวันที่เสียชีวิต เป็นเวลาเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น โรคร้ายอะไรกันแน่ที่ทำให้เขาจากไปด้วยเวลาอันรวดเร็วเช่นนี้
กลุ่มเสี่ยง
โรคทางพันธุกรรมคือมีญาติเป็นโรคเบาหวาน โอกาสเสี่ยงก็มีมาก หากเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 อายุที่มากขึ้นก็เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยง รวมถึงผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย บริโภคอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานประเภทที่ 1
มักมีอายุน้อย ไม่อ้วน ส่วนประเภทที่ 2 มักตัวใหญ่ อายุมาก น้ำหนักเยอะ
อาการที่พึงระวัง
เป็นหวัด ไอ ปัสสาวะบ่อย (มากกว่า 4 ครั้งต่อวัน) คอแห้งและดื่มน้ำมากผิดปกติ อาการเหล่านี้เกิดจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง อาการหน้าบวมจะเกิดเมื่ออยู่ในระยะท้ายๆ
ลักษณะของโรคเบาหวาน
ไอ ดื่มน้ำมา ปัสสาวะบ่อย
โรคเบาหวานเป็นโรคที่ผู้ป่วยมีน้ำตาลในเลือดสูง แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ที่เรารู้จักกันดีก็คือ เบาหวานประเภทที่ 2
ซึ่งส่วนใหญ่คนที่เป็นเบาหวานในกลุ่มนี้จะเป็นคนที่รับประทานเยอะ รูปร่างจึงมักจะอ้วนเกินมาตรฐาน ส่วนเบาหวานประเภทที่ 1 เป็นเบาหวานที่พบได้น้อยมาก และไม่เกี่ยวกับการใช้ชีวิต แต่พบได้ในกรณีที่ขาดอินซูลินอย่างสิ้นเชิง
อินซูลินเป็นฮอร์โมนประเภทหนึ่ง ผลิตจากตับอ่อนในระบบธรรมชาติ คือเส้นทางเดินอาหาร เมื่อรับประทานอาหารประเภทแป้ง คาร์โบไฮเดรตจะถูกย่อยสลายในระบบทางเดินอาหาร และนำไปใช้สร้างพลังงานในการดำรงชีวิต เช่น ใช้ในการหายใจ กะพริบตา ในภาวะปกติอินซูลินคือตัวที่นำกลูโคสไปในเซลล์นั้นๆ เซลล์ไม่สามารถใช้กลูโคสได้หากไม่มีอินซูลิน ในภาวะพร่องอินซูลิน เซลล์ไม่สามารถนำพลังงานไปใช้ได้เลย ถ้าเป็นอวัยวะสำคัญเช่น สมอง หากสมองเกิดการขาดพลังงานโดยเฉียบพลัน ถึงทานอาหารเยอะก็ไม่สามารถนำพลังงานไปใช้ได้ ทำให้น้ำตาลในเลือดล้น
ธรรมดาแล้วการรับประทานอาหารปกติ เมื่อร่างกายดูดซึมพลังงาน อินซูลินนำกลูโคสไปยังเซลล์ การพร่องอินซูลิน ทำให้ร่างกายใช้พลังงานจากกลูโคสไม่ได้ จึงดึงไขมันและกล้ามเนื้อมาย่อยสลายเกิดการเผาผลาญไขมัน คนไข้จึงน้ำหนักลด ซึ่งน้ำหนักจะลดลงอย่างรวดเร็วอย่างมีนัยสำคัญ ประมาณ 10%ของน้ำหนักเริ่มต้น ภายในระยะเวลาอันสั้น รวมกับโปรตีนจากกล้ามเนื้อจะถูกนำมาย่อยสลายชดเชย น้ำตาลที่ไม่ได้ใช้จึงล้นอยู่ในหลอดเลือด จนเลือดกลายเป็นน้ำหวาน น้ำเชื่อมเมื่อไปถึงไต ไตกรองเอาน้ำเชื่อมน้ำหวานออกไป ปัสสาวะจึงมีน้ำตาล เมื่อเป็นโรคนี้ตับอ่อนจะใช้เวลาในการถูกทำลายหลายปี แต่ก็มีบางกรณีที่ตับอ่อนถูกทำลายอย่างรวดเร็ว ไม่กี่วัน ซึ่งจะทำให้เสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วเช่นกัน
สำหรับเบาหวานแบบที่ 1 กับโรคหวัดนั้น เมื่อเป็นไข้หวัด ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสมากกว่าแบคทีเรีย ไวรัสจากลมหายใจจะเข้าสู่กระแสเลือด อาจไปทำลายตับอ่อนจนตับอ่อนหยุดทำงานได้ เมื่อไม่มีอินซูลินในร่างกาย ก็เกิดผลแทรกซ้อน เกลือแร่ไม่สมดุล อวัยวะต่าง ๆ เสียการทำงาน และเสียชีวิตในที่สุด
จากการสำรวจทั่วโลกเมื่อปี 2550 พบผู้ป่วยโรคเบาหวานถึง 246 ล้านคน เป็นชาวเอเชียถึง 4 ใน 5 ของคนทั่วโลก
วิธีการรักษาโรคเบาหวาน
เบาหวานถือเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะรักษาตามแผนการรักษาที่แพทย์ให้แล้ว ยังต้องตรวจเป็นระยะ ๆ เช่น ตรวจตา ตรวจไต ตรวจหัวใจ ตรวจเท้าแล้ว ยังต้องอาศัยการปฏิบัติตนของผู้ป่วย เช่น การควบคุมอาหาร แต่ยังทานอาหารครบ 5 หมู่ ห้ามทานของหวาน ขนม และน้ำอัดลม ต้องจำกัดอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการสำหรับคนเป็นเบาหวาน และต้องหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
รู้ไว้ ไกลโรค
1. ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถมีชีวิตอยู่อย่างยืนยาวได้ หากปฏิบัติตนตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
2. ถ้าไม่รักษาเบาหวานเป็นระยะเวลา 3-5 ปี จะมีภาวะแทรกซ้อนในหลายระบบ เพราะความผิดปกติของระบบตา ระบบหลอดเลือดแดง จะส่งผลไปยังระบบอวัยวะที่หลอดเลือดแดงไปหล่อเลี้ยง เช่น สมอง ประสาท หัวใจ ไต และตา ซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้
***อินซูลินที่ลดน้อย ไม่สามารถดักจับน้ำตาลได้ ทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นในร่างกาย แม้แต่เซลล์สมองก็ไม่สามารถดักจับน้ำตาลไว้ได้***
แพทย์ผู้ให้ข้อมูล : แพทย์หญิง รุ่งอรุณ สันทัดกลการ อายุรแพทย์-ผู้อำนวยการแพทย์ โรงพยาบาลพญาไท 1